13 ข้อผิดพลาดในการทำโฆษณา Google Ads ที่ Google ไม่ได้บอกคุณ!

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำโฆษณา Google Ads เพื่อนำมาช่วยเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ แล้วก็พัฒนากลายไปเป็นลูกค้าได้ต่อไปนั้น

ส่วนใหญ่มักจะยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรยังไง? ถึงจะทำให้แคมเปญโฆษณา Google Ads ของตัวเองให้ได้ผลดีตามที่ต้องการครับ

ในโพสนี้ ผมจะชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ผมมักจะเห็นจากการที่มีโอกาสได้เข้าไปดูบัญชีโฆษณา Google Ads ของลูกค้าใหม่ ๆ ของผม (ที่ได้ลองทำ Google Ads ด้วยตัวเองกันมาก่อน)

ซึ่งข้อผิดพลาดที่ผมเห็นนั้น มันทำให้ผมรู้สึก “เสียดายเงิน” ที่ต้องจ่ายไปให้กับทางอากู๋ Google มากๆ เลยครับ 🙁

โดยที่ผมหวังว่า หลังจากที่คุณอ่านโพสนี้จบแล้ว คุณจะไม่ทำผิดพลาด ในสิ่งต่างๆ ที่ผมนำมาเตือนพวกคุณไว้ในโพสนี้นะครับ

รวมไปถึงส่วนท้ายของโพสนี้ ผมจะแนะนำถึงวิธีแก้ไขและปรับปรุงโฆษณา Google Ads ของคุณ ให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมครับ เช่น

  • ช่วยให้คุณมีต้นทุนโฆษณาที่ถูกลง (เพราะว่ามี Quality Score ที่สูงขึ้น)
  • มีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณมากขึ้น โดยการใช้งบโฆษณาเท่าเดิม
  • เพิ่มโอกาสให้คุณมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น
  • แล้วก็ทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตมากยิ่งขึ้น
 

ว่าแล้วก็ลุยไปด้วยกันกับผมเลยครับ

ข้อผิดพลาด (ที่พบบ่อย) ของมือใหม่ในการทำโฆษณา Google Ads

1. ไม่มีการวางโครงสร้างของแคมเปญโฆษณาให้ดี

รวมไปถึงไม่มีการจัดหมวดหมู่ของคีย์เวิร์ดให้เรียบร้อยด้วยครับ 

สิ่งที่ผมมักจะเจออยู่บ่อยๆ ก็คือ แคมเปญโฆษณาของพวกมือใหม่มักจะไม่มีการจัดระเบียบของแคมเปญโฆษณาเลยครับ

อย่างเช่น ชื่อของแคมเปญโฆษณาก็ไม่ได้สื่อว่าพวกคีย์เวิร์ด ที่อยู่ในแคมเปญนั้น จะเกี่ยวข้องกันกับชื่อของแคมเปญหรือเปล่า?

คือถ้าเห็นแล้วจะบอกว่าคีย์เวิร์ดที่ใส่เข้าไปในระบบนั้น ไม่มีการวางจัดกลุ่มอะไรเลย

อารมณ์ประมาณว่า พอนึกขึ้นมาได้ว่าคนจะค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดคำไหนได้ ก็ยัดใส่ๆ เข้าไปก่อนเลยครับ (อาจจะกลัวลืม ฮาๆๆ)

ซึ่งมันจะทำให้แคมเปญโฆษณาของคุณเละตุ้มเป๊ะได้เลยครับ

พอเวลาที่มีคนค้นหาแล้ว ระบบของ Google มันจะต้องใชัพลังงานมากกว่าปกติเลยครับ ในการที่จะเอาโฆษณาของคุณว่าอยู่ตรงไหนอะไรยังไงนำมาแสดงให้คนค้นหาเห็น

ด้วยความที่ว่ามันสับสนปนเปกันไปหมด แถมบางทีก็มีคีย์เวิร์ดซ้ำซ้อนกัน ยิ่งทำให้คีย์เวิร์ดไปแข่งประมูลราคากันเองด้วยครับ

สำคัญมากนะครับ สำหรับเรื่องการวางโครงสร้างของแคมเปญโฆษณา Google Ads

ยิ่งในระยะยาวด้วยแล้ว คุณก็จะต้องมีการเพิ่มคีย์เวิร์ดใหม่ๆ เข้าไปอยู่เรื่อยๆ

ดังนั้น ให้คุณวางแผนจัดระเบียบให้ดีตั้งแต่แรกเลยครับ อนาคตจะได้สบายๆ ไม่ต้องปวดหัวครับ

2. ไม่มีความรู้ในเรื่องของ "รูปแบบการทำงานของคีย์เวิร์ด (Match Type)"

คือการที่พวกมือใหม่ใส่คีย์เวิร์ดคำที่ต้องการใช้ไปในระบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนที่ค้นหาคำที่คุณต้องการแล้วจะเจอโฆษณาของเค้าแต่เพียงอย่างเดียว

เพราะว่าทาง Google ยังใจดี เอาโฆษณาของเค้าไปแสดงให้กับคนที่ค้นหาคำที่ Google คิดว่า มีความเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดของเค้าให้ด้วยครับ

ซึ่งพวกคำที่ทาง Google คิดว่าเกี่ยวข้องนั้น…

มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเค้าเลยก็ว่าได้ครับ!

สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ว่า Match Type ของ Google คืออะไร?

คือทาง Google จะมี Match Types ทั้งหมด 4 แบบครับ คือ

  1. แบบกว้าง (Broad) – ซึ่งเป็นค่าปกติเวลาที่คุณใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปในระบบ
  2. ตัวแก้ไขแบบกว้าง (Modified Broad)
  3. แบบวลี (Phrase)
  4. แบบตรงทั้งหมด (Exact)
 

ซึ่งในท้ายของโพสนี้ ผมมีแนวทางในการเลือกใช้ Match Type อย่างถูกต้องมาแนะนำครับ

3. ไม่มีการใช้ "คีย์เวิร์ดเชิงลบ (Negative Keywords)"

คือมือใหม่จะยังไม่รู้ว่า Negative Keywords จะสามารถป้องกันให้คนที่ใช้คำค้นหาคำนั้นๆ “ไม่ให้เห็น” โฆษณาของเค้าได้ครับ

แถมบางคนก็ยังไม่รู้เลยครับ ว่าจะใส่ตรงส่วนไหนยังไง ในหน้าระบบของ Google Ads

4. ไม่รู้จักดูรายงาน Search Terms*

พวกมือใหม่มักจะไม่รู้ว่าตัวเค้าสามารถที่จะดูได้ว่า คนใช้คำค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง? แล้วก็เห็นโฆษณาที่เค้าสร้างขึ้น 

*Google เรียกคำที่คนใช้ค้นหาแล้วมาเจอโฆษณาของคุณว่า “Search Terms” ครับ

ส่วนคีย์เวิร์ดที่คุณใส่เพิ่มเข้าไปในระบบ เรียกว่า “Search Keywords” ครับ

ซึ่งรายงาน Search Terms จะมีประโยชน์มากครับ เพราะว่าเมื่อดูรายงาน Search Terms แล้ว จะเห็นได้เลยครับว่า…

มันมี Search Terms คำไหนบ้าง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเค้าเลย

ถ้าไม่ใช่ คุณก็จัดการเพิ่มเข้าไปในคีย์เวิร์ดเชิงลบซะ

5. ไม่มีการใช้ Brand Keywords

ยิ่งสมมติว่าธุรกิจของมือใหม่ที่ลงโฆษณา Google Ads อยู่นั้นมีชื่อเสียงในระดับนึง

การที่พวกเค้าไม่ซื้อคีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อแบรนด์ของตัวเองเอาไว้

ก็มีโอกาสที่จะถูกคู่แข่งทางธุรกิจซื้อไป แล้วก็คอยแอบแย่งลูกค้าของพวกมือใหม่ไปโดยไม่รู้ตัวด้วยนะครับ

6. ไม่มีการทดสอบข้อความโฆษณา (Text Ads)

คือพวกมือใหม่มักจะมีข้อความโฆษณาแค่แบบเดียวครับ

พวกเค้าอาจจะยังไม่รู้ว่า การทดสอบข้อความโฆษณาโดยมีการสร้างข้อความหลายๆ ตัวนั้นรันไปพร้อมๆ กันนั้น จะช่วยให้ระบบทำการทดสอบ และพัฒนาประสิทธิภาพของโฆษณาให้ดีขึ้นได้ครับ

7. ไม่มีการใช้ "ส่วนขยายโฆษณา (Ads Extensions)"

พวกมือใหม่เค้ายังไม่ค่อยรู้กันครับว่า ส่วนขยายโฆษณาคืออะไร? มีกี่แบบ?

แล้วมันจะไปแสดงตรงส่วนไหนในโฆษณา Google?

แล้วจะเข้าไปใส่หรือเพิ่มตรงไหน?

ซึ่งผมถือว่าพลาดมากๆ เลยครับ

ในท้ายของโพสนี้ ผมจะบอกให้คุณรู้ว่า ทำไมคุณถึง “จำเป็นต้องใช้” Ad Extensions ในโฆษณาของคุณ

8. ไม่มีการปรับแต่งหน้าปลายทาง (Landing Page) ให้ตรงกับข้อความโฆษณา

คือพอพวกมือใหม่สร้างโฆษณาเสร็จแล้ว พวกเค้าก็มักจะส่งลิงค์ให้คนคลิกเข้าไปที่หน้าแรกของเว็บไซต์ตัวเองอย่างเดียว

โดยที่พวกเค้าไม่รู้ว่า บางทีการสร้างหน้าปลายทางพิเศษเฉพาะขึ้นมา (Landing Page) จะสามารถที่จะช่วยให้แคมเปญโฆษณาของเค้านั้น ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มากกว่าการส่งคนไปที่หน้าแรกตั้งหลายเท่า

9. ไม่มีการใช้กลยุทธ์ในการเสนอราคา (Bid) ให้ตรงกับเป้าหมายทางธุรกิจ

คือจะเห็นว่าพวกมือใหม่ส่วนใหญ่จะใช้การเสนอราคาแบบ Manual CPC ง่ายๆ ก็คือใส่เงินที่ต้องการจะเสนอราคาต่อคลิก (CPC) เข้าไปเลย

อาจจะเนื่องด้วยยังไม่รู้ว่า Google นั้น สามารถที่จะใช้การเสนอราคาในแบบอื่นๆ ได้ด้วย

ซึ่งเดี๋ยวเรามาดูกันครับว่าคุณสามารถตั้งค่าเสนอราคา CPC ได้กี่แบบ?

10. ไม่มีการตรวจสอบและทำตามคำแนะนำในส่วนของ Recommendations

พวกเราอยู่ในยุคของ Big Data ที่ทาง Google ใช้ AI (Machine Learning) มาช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ซึ่งพวกมือใหม่ก็จะยังไม่ค่อยรู้ว่าฟีเจอร์ Recommendations นี้อยู่ตรงส่วนไหน และจะต้องทำยังไงกับมันดี?

11. ไม่มีการวัดผลโฆษณาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (Competitor Insights)

คือพวกมือใหม่เค้ามักจะไม่รู้ว่า แคมเปญโฆษณา Google Ads ที่เค้ารันอยู่นั้น สามารถที่จะดูได้ว่า ในบรรดาคีย์เวิร์ดคำต่างๆ ที่เค้าเสียเงินประมูลแข่งกันอยู่นั้น มีคู่แข่งรายไหนที่กำลังซื้อคีย์เวิร์ดแล้วก็ประมูลแข่งกับเค้าอยู่บ้าง

แล้วก็คีย์เวิร์ดที่พวกมือใหม่ซื้ออยู่นั้น มีกี่ % ที่เห็นโฆษณา (Impression Shares) แล้วมี่กี่ % ที่ไม่เห็นโฆษณาของเค้า

เวลาที่ผมถามคำถามเหล่านี้ พวกมือใหม่ก็จะอ้ำๆ อึ้งๆ แล้วก็บอกผมว่าไม่รู้ว่าจะดูข้อมูลพวกนี้ได้จากที่ไหนครับ

12. ไม่มีการวัดผลคอนเวอร์ชั่น (Conversions)

มือใหม่บางคนอาจจะยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำไปว่า “คอนเวอร์ชั่น” คืออะไร?

บางคนอาจจะรู้จักคำว่าคอนเวอร์ชั่น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะวัดตัวเลขนี้ได้อย่างไรในระบบ Google Ads?

13. ไม่มีการเชื่อมต่อการใช้งานระหว่าง Google Ads และ Google Analytics

มือใหม่บางคนยังไม่มี “การใช้ Google Analytics ในการวิเคราะห์เว็บไซต์” ของตัวเองเลยด้วยซ้ำครับ อันนี้คือเรื่องจริงครับ 

ซึ่งทำให้เค้าไม่สามารถวัดประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาได้หมดครบทุกมิติครับ

เป็นไงบ้างครับสำหรับข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ผมนำมาแนะนำให้พวกคุณรู้จักกันครับ

ทีนี้มาดูกันต่อครับ ว่าคุณสามารถที่จะป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ ด้านบนนี้กันได้อย่างไรบ้าง?

รวมไปถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทางผมแนะนำให้กับมือใหม่แบบพวกเค้า แล้วก็นำมาปรับปรุงให้กับลูกค้าใหม่ๆ ของบริษัทที่ให้โอกาสผมได้ช่วยงานด้วยครับ

ข้อแนะนำในการปรับปรุงแคมเปญโฆษณา Google Ads ของคุณ

1. จัดระเบียบโครงสร้างของแคมเปญโฆษณาให้ถูกต้อง

คุณต้องเริ่มตั้งแต่โครงสร้างของบัญชีโฆษณาของคุณเลยครับ

คุณต้องรู้ว่าแคมเปญนี้เกี่ยวกับอะไร?

คีย์เวิร์ดที่จะใช้ควรอยู่ใน Ad Group ไหน?

ข้อความโฆษณาก็จะต้อง “เกี่ยวข้อง” กับคีย์เวิร์ดให้มากที่สุด

รวมไปถึงแนวทางปฏิบัติที่ดี่ที่สุด (Best Practices) ตามที่พวกมืออาชีพเค้าใช้กันครับ

2. เลือกใช้รูปแบบการทำงานของคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง

เมื่อคุณรู้แล้วว่า การเลือกใช้คีย์เวิร์ดแบบกว้าง (Broad) นั้น ทาง Google เค้าจะใจดี เอาโฆษณาของคุณไปแสดงให้กับคนที่ค้นหา

ด้วยคำที่ Google คิดว่า “เกี่ยวข้อง” กับคีย์เวิร์ดของคุณ

ซึ่งการที่ Google คิดว่าเกี่ยวข้องนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ

ดังนั้นคุณต้องคอยตรวจสอบให้ดีครับว่า คีย์เวิร์ดที่คนใช้ค้นหา แล้วเห็นโฆษณาของคุณนั้น มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณกำลังโฆษณาอยู่จริงๆ

ถ้าคุณเพิ่งเริ่ม ผมแนะนำให้คุณเริ่มจากการใช้ “ตัวแก้ไขแบบกว้าง (Modified Broad)” ก่อนครับ แล้วเมื่อคุณรันโฆษณาไปได้ระยะนึงแล้ว คุณก็พอจะรู้แล้วว่าคนค้นหาด้วยคำว่าอะไร คุณก็ปรับไปใช้เป็น “แบบตรงทั้งหมด (Exact)” ในท้ายที่สุดครับ

3. ดูรายงาน Search Terms อยู่เสมอ

ดังนั้นคุณจะต้องคอยดูรายงานที่เรียกว่า Search Terms อยู่เรื่อยๆ ครับ

ถ้าหากว่าคุณไม่อยากเสียเงินให้กับ Google ด้วยคีย์เวิร์ดที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับธุรกิจของคุณเลย

4. ใช้คีย์เวิร์ดเชิงลบ

คุณสามารถที่จะใช้คีย์เวิร์ดเชิงลบ เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาของคุณได้ครับ

อย่าลืมนะครับว่า…

หน้าที่สำคัญของโฆษณาที่คุณทำนั้น นอกจากจะต้องแสดงให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ “ใช่” ได้ “เห็น” โฆษณาของคุณแล้ว

คุณจะต้องพยายามทำให้คนที่ “ไม่ใช่” กลุ่มเป้าหมาย ต้อง “ไม่เห็น” โฆษณาของคุณด้วยครับ

5. ซื้อ Brand Keywords เพื่อควบคุมคู่แข่ง

บางคนอาจจะแย้งผมในใจว่า ทำไมถึงต้องซื้อคีย์เวิร์ดที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง เพราะว่าเว็บไซต์ก็อยู่ในหน้าผลการค้นหาธรรมชาติ (Organic) ของ Google อยู่แล้ว

ผมขอแนะนำแบบนี้ครับ

คุณสามารถที่จะไม่ซื้อก็ได้ครับ ถ้าคุณมั่นใจได้ว่า เว็บไซต์ของคุณอยู่ในอันดับที่หนึ่งของหน้าค้นหาที่ Google อย่างแน่นอน

แต่ความเป็นจริงก็คือ

ถ้าคุณมีแบรนด์ที่แข็ง มีคนรู้จักเยอะๆ คู่แข่งของคุณเค้าก็สามารถที่จะซื้อคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับแบรนด์ของคุณ

แล้วเค้าก็มีโอกาสที่โฆษณาของเค้าจะแสดง “อยู่เหนือ” เว็บไซต์ของคุณก็ได้ครับ

6. ทดสอบข้อความโฆษณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มีผลลัพธ์ดีขึ้น

คือไหนๆ คุณก็ต้องเสียเงินให้กับ Google เพื่อทำโฆษณาอยู่แล้ว

จะดีกว่ามั๊ย? ถ้าคุณใช้โอกาสนี้ในการทดสอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณ ว่าพวกเค้าสนใจในข้อความโฆษณาตัวไหนของคุณมากกว่ากัน?

บางครั้งคุณอาจจะพบได้ว่า แค่เปลี่ยนแค่หัวข้อโฆษณาแค่ไม่กี่คำ สามารถทำให้โฆษณาของคุณมีคนคลิกเพิ่มมากขึ้นได้ครับ

7. นำส่วนขยายโฆษณามาใช้

จากที่ผมแนะนำครับว่า พวกมือใหม่มักจะไม่รู้จัก แล้วก็มองข้ามความสำคัญของการใช้งานส่วนขยายโฆษณานี้

แต่คุณรู้หรือเปล่าครับว่า? แค่คุณใช้ส่วนขยายโฆษณาในแคมเปญโฆษณาของคุณ

คุณก็จะสามารถที่จะมี “คะแนนคุณภาพ (Quality Score)” ที่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ใช้!

อย่าลืมนะครับว่าการที่คุณมีคะแนนคุณภาพที่สูงๆ ก็จะสามารถช่วยให้ “ต้นทุนโฆษณา” ของคุณถูกกว่าเดิมได้ครับ

แล้วก็ยังทำให้ “ตำแหน่งโฆษณา” ของคุณ อยู่เหนือคู่แข่งของคุณด้วยครับ

ตามสูตรสมการที่ว่า

Ad Rank = Max CPC x Quality Score

8. ออกแบบหน้า Landing Page ให้ตรงกับข้อความโฆษณา

ยิ่งเป็นหน้า Landing Page ที่ถูกออกแบบมา เพื่อสนับสนุนในเรื่องของการสร้างคอนเวอร์ชั่นด้วยแล้ว

ยิ่งจะช่วยทำให้โฆษณาของคุณได้ผลดีมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

9. ใช้กลยุทธ์การเสนอราคาที่ตรงกับเป้าหมายทางธุรกิจ

โดยเฉพาะการเลือกใช้ “การเสนอราคาแบบอัตโนมัติ (Automated)” เช่น

การเสนอราคา CPA เป้าหมาย (Target CPA)” ซึ่งจะเหมาะสำหรับธุรกิจประเภท Lead Gen

หรือ “การเสนอราคา ROAS เป้าหมาย (Target ROAS)” ที่เหมาะกับธุรกิจประเภทขายของออนไลน์ (Ecommerce)

ก็จะสามารถทำให้โฆษณาของคุณตอบโจทย์ได้ตรงกับเป้าหมายในการทำโฆษณาของคุณได้ดียิ่งขึ้นครับ

10. อย่าลืมใช้ฟีเจอร์ Recommendations

เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแคมเปญโฆษณาของคุณ

โดยที่ทางระบบจะทำการประเมินประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาของคุณ แล้วก็ตีออกมาเป็นคะแนนให้ครับ โดยเรียกว่า “Optimization Score

พร้อมกับเสนอคำแนะนำในการปรับปรุงส่วนต่างๆ ที่อยู่ในแคมเปญโฆษณาของคุณให้ด้วยครับ

11. เชื่อมบัญชี Google Ads เข้ากับบัญชี Google Analytics ของคุณ

เพราะว่าในระบบของ Google Ads นั้น คุณจะเห็นตัวเลขที่เรียกว่า “Pre-Clicks” เช่น จำนวนครั้งที่แสดงโฆษณา จำนวนคลิกกี่ครััง อัตราการคลิกเท่าไหร่?

แต่ถ้าคุณเชื่อมต่อ Google Analytics คุณจะสามารถเห็นตัวเลขที่เรียกว่า “Post-Clicks” ได้ครับ เช่น พวกเค้าอยู่ในหน้าเว็บคุณกี่นาที เปิดไปดูที่หน้าเว็บไหนบ้าง? และที่สำคัญ จำนวนของคอนเวอร์ชั่นผ่านทาง Goal ที่อยู่ใน Google Analytics

ผมสรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณคิดจะทำโฆษณา คุณต้องใช้งาน Google Analytics แล้วก็เชื่อมบัญชี Google Ads เข้าไปด้วยครับ

(หากว่าคุณเป็นบริษัทที่ใช้เอเจนซี่ช่วยทำโฆษณา Google Ads ให้กับคุณอยู่ การที่เอเจนซี่เจ้านั้นไม่เชื่อมบัญชี Google Ads เข้ากับ Google Analytics ของบริษัทคุณ ผมถือว่าเอเจนซี่เจ้านั้น ไม่มี “ความโปร่งใส” เพียงพอที่จะทำโฆษณา Google Ads ให้กับคุณครับ)

12. วัดผลคอนเวอร์ชั่น

ข้อนี้สำคัญมากครับ เพราะว่าเวลาที่คุณทำโฆษณาจ่ายเงินไปให้ทาง Google แล้วนั้น คุณจะต้องเก็บข้อมูลและก็รายละเอียดให้ครบทุกเม็ดครับ

คุณต้องรู้ว่าลงทุนไปแล้ว ได้อะไรกลับคืนมาบ้าง (ไม่งั๊นจะทำโฆษณาไปทำไม จริงหรือเปล่าครับ?)

วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการ Import ตัวเลขคอนเวอร์ชั่นจากบัญชี Google Analytics ของคุณครับ

ซึ่งคุณสามารถทำตามได้ง่ายๆ ผ่านทางคลิปวีดีโอด้านล่างนี้ได้เลยครับ

สรุป

จะเห็นได้ว่าข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ผมนำมาบอกพวกคุณรู้จักกันนั้น คุณสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากเลย ใช่มั๊ยครับ?

รวมไปถึงข้อแนะนำต่างๆ ด้านบนที่คุณควรทำกับแคมเปญโฆษณา Google Ads ของคุณ ก็จะช่วยให้คุณมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ

ยังไงหากว่าคุณมีคำถามหรือว่ามีข้อแนะนำเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยลง และทำให้แคมเปญโฆษณา Google Ads ได้ผลดีขึ้น 

อย่าลืมเอามาแชร์ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ให้กับคนที่สนใจต่อไปด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

อรรถทวี เจริญวัฒนวิญญู

ฝากแชร์ต่อให้เพื่อนๆ ด้วยนะครับ 😊 ขอบคุณครับ 🙏