การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร? (เปิดเผยแก่นแท้แห่ง SEO ในปี 2021)

เลือกอ่านหัวข้อ "การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร?"

SEO” หรือ “Search Engine Optimization” คือ หนึ่งในเทคนิคการตลาดออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ส่วนใหญ่นิยมทำที่ Google.co.th และ Google.com เป็นหลัก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างธุรกิจออนไลน์โดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด 

ถึงแม้เราจะเรียกการทำ SEO ว่า Free Traffic แต่อย่างไรก็ต้องมีการลงทุนอยู่ดีครับ

วันนี้ผมจึงอยากจะมาอธิบายความรู้เบื้องต้นว่าการทำ SEO คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? พร้อมทั้งผมจะมาบอกความลับที่อาจเรียกว่าเป็นแก่นแท้แห่ง SEO เลยก็ว่าได้ อย่าพลาดกันนะครับ

การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร

การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร ที่นี่มีคำตอบให้ครับ...

การทำ SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ถูกต้องตามหลักของ Search Engine โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ On-Page SEO และ Off-Page SEO (หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า Backlink)

ซึ่งคำว่า SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization หลายคนเข้าใจว่า SEO ใช้เฉพาะกับ Google เท่านั้น แต่ไม่ใช่ครับในโลกออนไลน์ของเรายังมีเครื่องมือการค้นหาที่ได้รับความนิยมอยู่อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น YouTube, Bing และ Yahoo เป็นต้น 

แต่ด้วยที่ว่าในบ้านเรานิยมค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่าน Google เกือบจะ 99.99% ทำให้ทุกธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทย ล้วนให้ความสำคัญไปที่ Google SEO เกือบจะทั้งหมด

google-seo
searchengineland.com/now-know-googles-top-three-search-ranking-factors-245882

Google SEO คือ การทำปรับแต่งเว็บไซต์ตามหลักอัลกอริทึมที่ทาง Google ได้ออกแบบขึ้นมา โดยปัจจุบัน จะมีส่วนที่เป็นปัจจัยหลัก(Core) ทั้งหมด 3 ส่วนดังนี้ 1. Content 2. Backlink และ 3. User Experience (UX) ซึ่งส่วนของ Content และ UX รวมกันแล้วก็คือ On-Page SEO นั่นเอง

หลักการทำ SEO อันที่จริงแล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่คุณต้องเข้าใจปัจจัยหลักที่เอาไว้ขับเคลื่อนอัลกอริทึมทั้งหมด หรืออธิบายได้ว่าวิธีการทำ SEO หมายถึงการเข้าใจเป้าหมายของ Google ว่าแท้จริงแล้วต้องการให้อะไรกับผู้ค้นหากันแน่

การทํา SEO Ranking มีความสำคัญกับธุรกิจออนไลน์ของคุณหรือไม่?

seo ranking สำคัญกับธุรกิจอย่างไร

การทำ SEO เป็นการผลักดันให้เว็บไซต์ของคุณติดหน้าแรกบน Google ด้วยคีย์เวิร์ดที่ต้องการ

ยิ่งคุณสามารถทำให้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจติดอันดับมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจบนโลกออนไลน์ของคุณเติบโตมากขึ้นเท่านั้น

เรียกได้ว่าการทำ SEO มีความสำคัญต่อทุกธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ Covid-19 ระบาดหนักแบบนี้ การขยับขยายธุรกิจเข้าสู่ระบบออนไลน์จึงเป็นอะไรที่ปฎิเสธไม่ได้เลย

ซึ่งการทำ SEO Ranking จะแตกต่างจากการลงโฆษณา Google Ads อธิบาย (แบบรวบรัด) ได้ดังนี้ SEO จะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน*  ในการเริ่มทำอันดับและมีคนเข้าชมเว็บไซต์ ธุรกิจของคุณจะค่อยๆ โตอย่างต่อเนื่อง การวัดผลที่ชัดเจนที่สุดในการทำ SEO อาจกินเวลามากถึง 1 ปีเลยทีเดียว 

*หมายเหตุ: ขึ้นอยู่กับเว็บไซต์และคีย์เวิร์ดที่ต้องการ

google ads สำคัญกับธุรกิจอย่างไร

แต่การทำ Google Ads เพียงแค่คุณจ่ายเงินค่าโฆษณาก็จะสามารถขึ้นไปอยู่ตำแหน่ง TOP1-3 ในหน้าแรกได้ทันที แต่ต้องแลกมาด้วยการจ่ายค่าโฆษณาเป็นคลิก เช่น หากมีคนคลิกโฆษณาของคุณ 1 ครั้ง ต้องจ่ายครั้งละ 3 บาท หากมีคนคลิก 1,000 ครั้งก็ต้องจ่าย 3,000 บาท เป็นต้น

ดังนั้นหากต้องการให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณเติบโตอย่างรวดเร็ว ผมแนะนำว่าควรจะทำทั้ง 2 แบบควบคู่กันไป สำคัญคือจะต้องลำดับการทำงานและวางแผนให้ดีเท่านั้นเองครับ 

หัวข้อต่อไปผมจะพาคุณไปรู้จักกับ On-Page SEO ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยหลักในเรื่อง Content อาจเรียกได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุดในการทำ SEO เลยก็ว่าได้

On-Page SEO สิ่งสำคัญที่หลายคนมองข้าม

on page seo
Image: blog.alexa.com/on-page-optimization-in-seo

On-Page SEO คือ การปรับแต่งเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์ของเราเอง ให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักของ Google Algorithm เพื่อเป็นการบอก Google ว่าคุณกำลังจะทำเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องอะไร โดยปกติเรามักจะใช้หลักของ On-Page SEO เพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน้าเว็บเพจ ให้สามารถทำอันดับบน Google ได้ดียิ่งขึ้นและเเป็นประโยชน์ต่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

หากย้อนไปประมาณปี 2010 การทำ On-Page SEO มักจะถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า Off-Page SEO อยู่มาก (On-Page 20% และ Off-Page 80% อย่างนั้นเลย) 

แต่เมื่อ Penguin Algorithm เริ่มเข้ามามีบทบาทในปี 2012 ทำให้นัก SEO สาย Off-Page ต้องเจอมรสุมครั้งใหญ่ เพราะอันดับที่เคยดีจากการทำ Off-Page กลับไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์เอาไว้

นับตั้งแต่นั้นมาการทำ On-Page SEO จึงได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่อันที่จริงแล้ว On-Page SEO มีความสำคัญมานานมากแล้วครับ แม้ปัจจุบันนี้เทคนิคออนเพจที่เรียกว่า Old School (เทคนิคแบบดั้งเดิม) ก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่ ซึ่งหลักสำคัญของ On-Page จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนดังนี้

1. การปรับแต่งและจัดการ Page Title และ Meta Description

title-และ-meta-description
ตัวอย่างการทำ Title & Meta Description จาก Serpsim.com

ในส่วนของ Page Title และ Meta Description ถือว่าสำคัญมากที่สุดในการทำ On-Page SEO

หลักการง่ายๆเลยก็คือ ถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่ต้องการควรอยู่เป็นคำแรกของ Title และควรจะมีตัวเลขหรือสัญลักษณ์ เพื่อดึงดูดสายตาของผู้ค้นหา ตัวอย่างเช่น

การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร? (อัพเดทล่าสุด 2021)

Page Title แบบนี้จะมีองค์ประกอบสำคัญก็คือ คีย์เวิร์ดคำว่า “การทำ SEO” ซึ่งเป็นการบอก Google ว่าคุณให้ความสำคัญกับคีย์เวิร์ดนี้มากที่สุด ส่วนใน Meta Description อาจแทรกคีย์เวิร์ดหลัก 1 คำและคีย์เวิร์ดรอง 1 คำ

ผมขอแนะนำเว็บ https://serpsim.com เอาไว้ทดลองใช้งานได้ครับ สำหรับ Page Title แนะนำว่าไม่ควรเกิน 480px และ Meta Description ไม่ควรเกิน 900px นะครับ

2. การปรับแต่งและจัดการ Keyword ในเนื้อหา

Keyword แปลว่า "คำหลัก" แต่เนื่องจากเรียกทับศัพท์กันมานาน ผมจึงใช้ในบทความว่า "คีย์เวิร์ด"

การปรับแต่งและจัดการคีย์เวิร์ดแบบง่ายๆ ผมแนะนำว่า 100 คำแรกควรมีคีย์เวิร์ดหลัก 1 คำ หัวข้อต้องมี H1 H2 H3 ควรมีคีย์เวิร์ดหลักหรือคีย์เวิร์ดรองอย่างละ 1 คำ 

ด้านในที่เป็นเนื้อหาไม่ควรมีคีย์เวิร์ดเกิน 2 คำต่อ 1 ย่อหน้า และใน 1 ย่อหน้าควรมีความยาว 150-300 คำ เป็นหลักการแบบรวบรัดที่ผมใช้ในการทำงานอยู่ ให้คุณเอาวิธีนี้ไปใช้จัดการคีย์เวิร์ดได้เลยครับ

3. การออกแบบเนื้อหาตามหลัก SEO Copywriting

Copywriting หลักการเขียนบทความเชิงจิตวิทยา ส่วนใหญ่ไว้เขียนโฆษณาเป็นหลัก

เป็นการนำหลักของการเขียนโฆษณาซึ่งอ้างอิงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย มาผสมกับเทคนิคการทำ SEO ผมขอยกตัวอย่างของ Page Title ตัวเดิมนะครับ

“การทำ SEO คืออะไร สำคัญอย่างไร? (อัพเดทล่าสุด 2021)” 

สำหรับใน Page Title นี้จุดที่มีส่วนของ Copywriting คือการใช้ตัวเลข 2021 และคีย์เวิร์ด “ทำ SEO” และมีคีย์เวิร์ดรองเป็น “การทำ SEO คืออะไร” 

การทำให้บทความเป็นปัจจุบันและเพิ่มสัญลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น (อัพเดทล่าสุด 2021) 

ซึ่งนี่เป็นเพียงเทคนิคในการเขียน Page Title เท่านั้นครับ ยังไม่รวมลำดับการเขียน เทคนิคการเขียนและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่ง SEO Copy Writing จะมีผลทั้ง On-Page SEO และมีผลอย่างมากในเรื่องของ UX Signals ครับ

4. การจัดการเรื่อง UX Signals (ประสบการณ์ผู้ใช้งาน)

UX Signals (User Experience) สัญญาณประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งาน

UX Signals สมัยก่อนถือว่าเป็นหนึ่งในส่วนของ On-Page เพราะยังไม่มีอัลกอริทึมที่ออกมาวัดผลอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เรื่องของ UX Signals ได้มีอัลกอริทึมเอาไว้วัดผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมจะอธิบายแบบละเอียดมากขึ้นในหัวข้อถัดๆ ไป อย่างไรก็ดีเราก็ต้องยอมรับว่า UX Signals มีความสำคัญมากเช่นกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญของการทำ On-Page SEO ที่ไม่ใช่แค่มีอันดับที่ดี แต่จะสามารถตอบโจทย์ผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณได้อีกด้วย สำหรับใครที่สนใจจะศึกษา On-Page SEO ให้ละเอียดมากขึ้น ผมจะทำบทความแบบเจาะลึกให้ได้อ่านกันเร็วๆ นี้แน่นอนครับ

หัวข้อต่อไปเราจะมาทำความรู้จักกันในเรื่องของ Off-Page SEO หรือ Backlink ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการทำ SEO ที่ขาดไม่ได้เลย

Off-Page SEO หรือ Backlink หมัดเด็ดของนักทำ SEO

Off-Page SEO หรือ Backlink คือ การทำลิงค์จากเว็บไซต์หนึ่งไปยังอีกเว็บไซต์หนึ่ง อาจมาจากหน้าไหนของเว็บไซต์ก็ได้ 

ซึ่งทาง Google จะพิจารณาทุกลิงค์อยู่ในรูปแบบของ “ผลโหวต” หากหน้าเว็บไซต์ไหนมี Backlink จำนวนมาก ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้มีอันดับที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Backlink จากเว็บ https://yellowpages.co.th จะอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า URL Link โดยลิงค์เป็นคำว่า https://www.konvertive.com ไปยังหน้าเว็บไซต์ konvertive.com ตรงตามตัวของ URL เลยครับ

อีกตัวอย่าง Backlink จาก www.thetaradev.com อยู่ในแบบของ Anchor Text Link ลิงค์ไปที่ www.konvertive.com/google-search-ads-guidebook/ ในคีย์เวิร์ด “คอร์ส Google Ads” เป็นการทำลิงค์เข้าไปยังหน้าภายใน ซึ่งหน้าหลักก็คือ konvertive.com แบบนี้ก็เรียกว่า Backlink เช่นกัน

ทำไม Backlink ถึงมีความสำคัญต่อการทำ SEO

อย่างที่ผมได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่า… 

Backlink เปรียบเสมือนผลโหวตที่ได้รับจากเว็บไซต์อื่นๆ ยิ่งเว็บไซต์เหล่านี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลให้คะแนนโหวตมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น 

ที่สำคัญผลโหวตในรูปแบบ Backlink ยังทำหน้าที่อธิบายให้ Google เข้าใจถึง “เนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณว่ามีความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์มากแค่ไหน” อีกด้วยครับ

เมื่อปี 2010 การทำ Backlink ถือเป็นรากฐานสำคัญของ Google Algorithm จนหลายคนขนานนามว่า “Backlink is King” เลยทีเดียว หากคุณอยู่ในยุคที่ SEO Backlink เฟื่องฟูที่สุดจะต้องรู้จักเมทริกต์ที่มีชื่อว่า “PageRank (เพจแรงค์)” เป็นอย่างดี

Image: fastseotips.com/seo/how-to-increase-google-page-rank

PageRank เป็นเมทริกต์ที่มีผลต่อการจัดอันดับมากที่สุดในยุคนั้น ถึงแม้ปัจจุบันการคำนวณ PageRank ทาง Google ได้ยกเลิกไป (ซึ่งจริงๆ แล้ว Google ไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ไม่ได้บอกเปิดเผยตัวเลขให้เห็นเหมือนแต่ก่อน) แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด PageRank อย่าง Backlink ซึ่งเป็นเสมือนอัลกอริทึมระดับรากฐานทาง Google ยังคงใช้งานและได้รับความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน Backlink ถือว่าเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยหลักที่ใช้จัดอันดับบน Google (1. Content ผมได้อธิบายไปแล้ว 2. Backlink และ 3. UX Signal เราจะคุยกันในหัวข้อถัดไปครับ) ไม่ว่าจะมีการอัพเดทอัลกอริทึมกี่พันกี่หมื่นครั้งก็ตาม ไม่มีทางเลยที่ Google จะยกเลิกหรือละเลยสามปัจจัยนี้ไปได้

ปล. ส่วนของ Content กับ On-Page SEO ถือว่าเป็นส่วนเดียวกันนะครับ เพราะว่าใช้หลักในการปรับแต่งเหมือนกัน เดี่ยวจะมีคนสับสนดังนั้นผมจึงขอออกตัวไว้ก่อนครับ

แต่ในบางกรณี Backlink จำนวนมากๆ ก็ไม่ใช่ข้อดีเสมอไป Backlink เพียงแค่ 1 ลิงค์ อาจมีค่ามากกว่า Backlink นับ 1000 ลิงค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายส่วน เรามาดูกันว่า Backlink ที่ดีต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร… 

1. Backlink ที่ดีต้องมาจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ

digital composite of business graphics with office background

ในวงการ SEO มีเมทริกต์อยู่หลายตัวที่ใช้ในการคำนวณความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็น DR (Domain Rating) ของทาง Ahrefs, DA (Domain Authority) ของทาง Moz, TF (Trust Flow) และ CF (Citation Flow) ของทาง Majestic เมทริกต์เหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยใช้รากฐานจาก Google Algorithm เป็นหลักจึงใช้ได้ผลดีและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย 

แต่อย่างว่าครับของดีและฟรีไม่มีในโลก เมทริกต์เหล่านี้ล้วนต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น แต่ๆๆๆ ไม่ต้องกังวลไป ผมมีเครื่องมือฟรีมาแนะนำครับ https://websiteseochecker.com/bulk-check-page-authority เว็บไซต์ที่ผมให้ลิงค์ไปนี้ได้รวบรวมเอาเมทริกซ์สำคัญๆ อย่างเช่น DA PA TF CF ที่ช่วยให้คุณสามารถใช้ได้แบบฟรีๆ แต่มีข้อจำกัดนิดหน่อย ก็คือตรวจสอบได้สูงสุดครั้งละ 3 เว็บไซต์

ขั้นตอนก็คือให้ใส่เว็บไซต์ที่คุณต้องการตรวจสอบ กดปุ่ม Check ให้สังเกตค่า DA PA ถ้าเกิน 10 ถือว่าดี ต่อไปให้สังเกตค่า SS (Spam Score) ไม่ควรเกิน 10 ครับ ต่อไปให้ดู TF CF ยิ่งสูงยิ่งดีครับ หลักๆ เน้นที่ DA และ SS ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ใครที่กำลังจะทำ Backlink แต่ยังไม่รู้ว่าเว็บไซต์เหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ลองมาตรวจสอบกันได้เลย (Backlink ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง!)

2. Backlink ที่ดีต้องใช้ Anchor Text Link อย่างถูกต้อง

Anchor Text Link คือส่วนที่จะช่วยบอก Google ว่าเว็บไซต์ของคุณต้องการทำอันดับในคีย์เวิร์ดอะไร ซึ่งรูปแบบจะเป็น HTML Code ตัวอย่างเช่น 

<a href=”https://www.ชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการ.com”>คีย์เวิร์ดที่ต้องการ</a>

การใช้ Anchor text link จะถูกจำแนกออกตามชนิดของคีย์เวิร์ดมากกว่า 10 รูปแบบ  แต่ผมขอแนะนำที่ใช้กันจริงๆในปัจจุบันแค่ 2 รูปแบบดังนี้

  • Exact Keyword คือ คีย์เวิร์ดแบบตรงตัว ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการทำอันดับคำว่า “ลดความอ้วน” ให้คุณใช้ Anchor Text Link คำว่า “ลดความอ้วน” เป็นต้น
  • LSI Keyword คือ คีย์เวิร์ดที่มีความหมายพ้องกัน เช่น หากคุณต้องการทำอันดับคำว่า “ลดความอ้วน” ให้คุณใช้ Anchor Text Link คำว่า “ลดน้ำหนัก” หรือ “ลดหน้าท้อง” เป็นต้น

 

ส่วนใหญ่แล้วเรื่องการทำ Anchor Text Link หลายคนจะพลาดในการคำนวณค่า Keyword Density (ความหนาแน่นของคีย์เวิร์ด) เพราะหากทำมากเกินไปก็จะกลายเป็น Over-Optimize ทำน้อยเกินไป Google ก็จะไม่รู้ว่าเว็บไซต์ของคุณต้องการสื่อถึงเรื่องอะไร  แต่ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ผมจะแนะนำวิธีการแบบง่ายๆ ให้คุณนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว

Image: sitechecker.pro/keyword-density

ยกตัวอย่าง Backlink (ในรูปแบบของ Anchor Text) 10 ลิงค์ ให้ทำไปที่ Exact 4 ลิงค์ และ LSI 6 ลิงค์ เป็นการคำนวณ Keyword Density แบบ 4:6 หรืออาจใช้เป็น 3:7 ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณ LSI ที่จะหาได้ครับ แต่เน้นว่าพยายามให้ LSI มีความหนาแน่นมากกว่า Exact เท่านั้นเอง

3. Backlink ที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับเว็บไซต์ของคุณ

ฟังดูง่ายนะครับแต่การที่จะหา Backlink ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเว็บไซต์ที่ทำอยู่นั้นไม่ง่ายเลย ซึ่งอาจตีความหมายได้ว่าหากคุณสามารถมี Backlink จากเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันได้ 1 ลิงค์ อาจมีค่ามากกว่า Backlink จากเว็บที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างน้อยๆ 10 ลิงค์เลยก็เป็นได้ เช่น คุณทำเว็บไซต์ขายของแต่งบ้าน และไปได้ Backlink จากเว็บไซต์ขายคอนโด แบบนี้ก็ถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่สอดคล้องเช่นกันครับ

Backlink ที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกันส่วนใหญ่จะเป็นลิงค์ที่มาจากเว็บประกาศ และหากคุณไม่ตรวจสอบให้ดีเว็บประกาศพวกนี้บางทีก็ไม่ Index เลยด้วยซ้ำ นั่นหมายถึง Backlink ที่คุณได้จะไร้ประโยชน์ในทันที

เกร็ดความรู้: เว็บประกาศหรือเว็บที่เปิดให้คนโพสต์มากๆ ส่วนใหญ่จะ Index ช้าหรือในบางครั้งก็ไม่ Index เลย เป็นเพราะ Google Bot มองว่าเนื้อหาเหล่านี้เป็น Spam ทำให้ถูกลดความสำคัญ

4. Backlink ที่มีพลังจะต้องเป็น Dofollow

Image: delante.co/dofollow-and-nofollow-links-when-to-apply-them

นี่คืออีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญและยังมีการถกเถียงกันอยู่มาก สำหรับการทำ Dofollow และ Nofollow ผมขออธิบายแบบง่ายๆ ดังนี้

หากว่า Backlink ที่คุณได้เป็น rel=”nofollow” นั่นจะเป็นการส่งสัญญาณบอก Google Bot ว่า “ไม่ต้องตามลิงค์นี้ไปนะเห้ย” แสดงว่าคุณจะไม่ได้คะแนน Backlink จากลิงค์นี้ครับ

แต่ในกรณีที่เป็น rel=”dofollow” หรือไม่ได้ระบุอะไรลงไปในในส่วนที่เป็น rel=”tag” แสดงว่าค่าพื้นฐานจะถูกบันทึกเป็น dofollow เป็นการบอก Google Bot ว่า “ตามลิงค์นั้นไปได้เลย” ความหมายก็คือคุณจะได้รับคะแนน Backlink จากลิงค์นี้ครับ

ตัวอย่างรูปแบบของ Dofollow Link

ทีนี้หากคุณจะทำ Backlink จากที่ไหนก็ตาม ผมแนะนำลองตรวจสอบ HTML Code ในส่วนของลิงค์ดูก่อน โดยการกด Ctrl + Shift + i คลิกที่ไอคอนรูปลูกศร (ซ้ายมือบนสุด)

ตัวอย่างรูปแบบของ Nofollow Link
เสร็จแล้วไปคลิกลิงค์ที่ต้องการครับ คุณจะเห็น HTML Code ของลิงค์นั้นทันที การตรวจสอบแบบนี้จะช่วยให้คุณไม่เสียเวลาและเสียโอกาสในการทำ Backlink ครั้งต่อๆ ไป

5. Backlink ที่แตกต่างย่อมมีค่ามากกว่าเสมอ

517386-PILICJ-808

การได้รับ Backlink ที่แตกต่าง หมายถึง เว็บไซต์ที่คุณไปได้ลิงค์มานั้นจะต้องมีลิงค์ออกน้อยที่สุด เรียกได้ว่าคู่แข่งในตลาดเดียวกันไม่สามารถหาลิงค์แบบคุณได้ หรือน้อยคนที่จะรู้ว่าเว็บไซต์เหล่านี้เปิดให้ทำลิงค์ออกไปได้ ซึ่งผมขอบอกว่าการได้ Backlink แบบนี้เป็นอะไรที่ยากมากๆๆๆ แต่ถ้าหากคุณสามารถหามาได้ จะกลายเป็นจุดแข็งในเรื่องของ Backlink ให้กับเว็บไซต์ของคุณได้เลย 

ซึ่งนักทำ SEO หลายคน มักจะใช้ Private Blog Network (PBN) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เน็ตเวิร์คส่วนตัว ในการทำ Backlink ลักษณะแบบนี้ ไว้ผมจะมาคุยรายละเอียดในเรื่อง PBN ให้ฟังอีกทีนะครับ

Image: medium.com/@ivan.nikitin

อันที่จริง Backlink ยังมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่อีกมาก เพราะการทำที่ให้ผลดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด จะต้องใช้เทคนิค Black Hat เข้าร่วมด้วย (อย่างเรื่อง PBN ก็ถือว่าเป็น Black Hat เช่นกัน) ซึ่งเป็นเสมือนดาบสองคม หากใช้ไม่เป็นก็จะย้อนกลับไปทำลายเว็บไซต์ของตัวเองได้ในทันที 

ดังนั้นถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำหรือไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ไม่ควรแตะ Black Hat เลยครับเพราะคุณจะได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน

หัวข้อต่อไปเราจะลุยกันในเรื่อง UX Signals ซึ่งผมขอบอกเลยว่านี่คือแก่นแท้แห่ง SEO ที่ทุกๆ Search Engine ต้องการมากที่สุด และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ On-Page SEO อีกด้วย

UX Signals บทสรุปของการทำ SEO

ในยุคเริ่มแรกของการทำ Google SEO ต้องยอมรับว่า Algorithm ที่เราใช้ในการจัดอันดับเกือบ 100% คือการทำ Backlink แต่ไม่ใช่กับ AI Algorithm ที่ผมกำลังจะกล่าวถึงต่อจากนี้ 

เมื่อประมาณปี 2015 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวงการ SEO เมื่อ Google Algorithm มีการอัพเดทและประกาศเปิดตัวอัลกอริทึมนามว่า RankBrain อย่างเป็นทางการ 

rankbrain
Image: mangools.com/blog/how-to-do-keyword-research-google-rankbrain

ซึ่งเจ้าตัว RankBrain นี้เรียกได้ว่าเป็นอัลกอริทึมระดับ AI (Artificial Intelligence) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อปัญญาประดิษฐ์ ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องของ UX Signals (User Experience Signals) โดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ Google และทุกๆ Search Engine ต้องการมากที่สุด เพราะนั่นคือประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งาน

และผู้ใช้งานอย่างเราๆ ก็เปรียบเสมือนลูกค้าคนสำคัญที่จะส่งมอบเม็ดเงินมหาศาลให้กับทาง Google ยิ่งสามารถวัดผลเกี่ยวกับ UX Signals ได้มากเท่าไหร่นั่นหมายถึงกำไรที่มากขึ้นเท่านั้น ไม่แปลกเลยครับที่ UX Signals คือ 1 ใน 3 ปัจจัยหลักของ SEO ที่กำลังจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต และอัลกอริทึมอย่าง RankBrain เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

ในหัวข้อนี้ผมจะมาอธิบายเกี่ยวกับสัญญาณ 4 ตัว ที่มีความสัมพันธ์และสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่อง UX Signals มาเริ่มกันที่ตัวที่หนึ่งเลยครับ

1. Dwell Time ยิ่งอยู่นานๆๆๆ ยิ่งดี

Dwell Time คือการที่ผู้ค้นหาข้อมูลผ่าน Google ใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์ ขอย้ำว่าจะต้องเข้าผ่าน Google เท่านั้นนะครับ

หลังจากที่ผู้ค้นหาได้ข้อมูลที่ต้องการอาจย้อนกลับไปที่ SERPs หรือออกจากเว็บไซต์ หรืออาจเกิด Conversion อย่างอื่นก็ได้ทั้งนั้น 

ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO หลายคนถือว่า Dwell Time เป็นสัญญาณการจัดอันดับที่สำคัญมากที่สุดสำหรับเรื่อง UX Signals ซึ่งในการค้นหาแต่ละครั้งทาง Google จะมีการเก็บ Cookies เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมของผู้ค้นหา หลังจากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผลในส่วนของ Dwell Time 

ผมจะขอยกตัวอย่างแบบง่ายๆ สำหรับวิธีการทำงานของ Dwell Time

สมมติว่าคุณค้นหาคำว่า “ลดความอ้วน” คุณเลือกคลิกเข้าไป 1 เว็บไซต์แล้วพบว่า…

โหลดช้า อ่านยาก ใช้งานก็ยาก เนื้อหาก็ไม่เป็นประโยชน์และไม่ตรงประเด็น” 

คุณอาจใช้เวลาในหน้าเว็บไซต์นั้นแค่ 5 วินาที แล้วกด Back กลับออกมายังหน้า SERPs อีกครั้ง เพื่อพิจารณาหน้าเว็บไซต์ในอันดับต่อไป

นั่นแสดงให้เห็นว่าหน้าเว็บไซต์นั้นไม่มีคุณภาพและมี Dwell Time ที่ต่ำ ไม่มีผลดีต่อ UX Signals หน้าเว็บไซต์นั้นจะถูก Google พิจารณาลดอันดับ

Image: backlinko.com

เมื่อคุณไม่พอใจในผลลัพธ์แรกที่ได้จากการค้นหา ตามหลักแล้วคุณก็ต้องกดปุ่ม Back ออกมาเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีกว่า และเมื่อคุณเลือกเข้าหน้าเว็บไซต์ถัดไปแล้วพบว่า…

เนื้อหาอ่านง่าย มีประโยชน์ โหลดเว็บได้เร็ว และก็สามารถให้คำตอบสุดท้ายใหักับคุณได้

คุณอาจใช้เวลาในหน้าเว็บไซต์นั้น 5 นาที นั่นแสดงให้เห็นถึงความมีคุณภาพของเนื้อหาและสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของ UX Signals เมื่อคุณซึ่งเป็นผู้ค้นหาพอใจในผลลัพธ์ แน่นอนว่าทาง Google เองก็พอใจไปด้วย หน้าเว็บไซต์นั้นจะถูกพิจารณาเพิ่มอันดับอย่างแน่นอน

อันนี้จริงเรื่องของ Dwell Time ทาง Google เองก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันแบบชัดเจนว่าเป็นปัจจัยในการจัดอันดับ แต่ในการทดสอบของผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO หลายคน รวมไปถึงการทำงานของ RankBrain เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า Dwell Time คือส่วนสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4-minutes-37-seconds-spent-reading-all-content-960x710
Image: backlinko.com

ในมุมมองของผมเอง หากว่าผมเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ Google และอยากพัฒนาให้ Google เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล ผมคงจะต้องให้ความสำคัญกับ Dwell Time เป็นแน่ เพราะว่านี้คือสิ่งเดียวที่จะบอกได้ว่า “ผู้ค้นหาพอใจกับผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหน” 

แล้วคุณหละครับคิดว่า Dwell Time สำคัญต่อการค้นหาหรือไม่?

2. Bounce Rate ยิ่งน้อยๆๆๆ ยิ่งดี

Bouce Rate หรือ อัตราการตีกลับ คือ เปอร์เซ็นต์ของผู้เยี่ยมชมที่ออกจากหน้าเว็บไซต์ของคุณ โดยไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย เช่น ไม่มีการคลิกลิงค์, ไม่มีการกรอกแบบฟอร์ม, ไม่มีการทำการซื้อขายใดๆ เป็นต้น

ซึ่งหาก Bounce Rate เกิดขึ้นบ่อยๆ บนเว็บไซต์ก็คงไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน แต่หากใครยังคิดว่า Bounce Rate ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมมีเหตุผล 3 ข้อ ที่อาจทำให้คุณเริ่มสนใจ Bounce Rate มากขึ้นครับ 

  • Bounce Rate ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ยิ่งมีค่าเฉลี่ยที่สูง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าคุณจะไม่ได้อะไรจากคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณเลย หมายความว่าหากมีคนเข้าเว็บไซต์ 1000 คน แล้วมี Bounce Rate เกิน 80% นั่นแสดงว่าคุณอาจเสียผลประโยชน์จากผู้เยี่ยมเว็บไซต์ประมาณ 800 คนเลยทีเดียว
  • มีผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO หลายคนออกมาบอกว่า Bounce Rate มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อการจัดอันดับในหน้าแรกของ Google (ถ้ามีคนเข้าแล้วก็ออกโดยไม่ได้ทำอะไรเลย แสดงว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณห่วยแตก ตรรกะง่ายๆ แบบนี้ น่าจะถูกนำไปวิเคราะห์ในการจัดอันดับอย่างแน่นอน)
  • การมี Bounce Rate ที่สูงมากเกินไป (70-90%) เป็นสัญญาณเตือนว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณ มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ควรกลับไปดูเรื่องการจัดย่อหน้า การใช้ประโยคที่สะดุดตา ขนาดตัวอักษร ซึ่งทั้งหมดนี้อาจรวมไปถึงเรื่อง SEO Copywriting ด้วยครับ

คำถามต่อไปก็คือ Bounce Rate ที่ดีควรมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่?

ตามรายงานของเว็บไซต์ GoRocketFuel.com พบว่าค่าเฉลี่ย Bounce Rate ที่อยู่ระหว่าง 41 ถึง 51% ถือว่าดีที่สุดในแง่ของเนื้อหาและการทำอันดับบน Google

bounce-rate-correlated-with-first-page-rankings-1536x1057

อย่างไรก็ดี Bounce Rate ในแต่ละวัตถุประสงค์บนโลกออนไลน์ย่อมแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น Custom Media Labs พบว่าเว็บไซต์ในรูปแบบ E-Commerce หรือ Shopping Online จะมีค่า Bounce Rate อยู่ที่ 20-45% ซึ่งถือว่าต่ำมาก 

ซึ่งถือว่าเป็นปกติของเว็บ E-Commerce ที่คุณจะต้องเข้าไปดูหน้าสินค้า ต่อด้วยหน้าตะกร้า ต่อด้วยหน้าจ่ายเงิน และสุดท้ายด้วยหน้ายืนยันรายการ เป็นต้น

average-bounce-rate-differs-between-website-categories-768x602
Image: backlinko.com

แต่พอมองกลับมาที่เว็บไซต์ประเภท Blog กลับมีค่า Bounce Rate เฉลี่ยสูงถึง 90% ซึ่งก็ต้องมองว่าเป็นเรื่องปกติเหมือนกัน เพราะว่าพวกเค้าไดเข้ามาอ่านเนื้อหา แล้วได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว ก็จะกดออกจากเว็บไป

อีกกรณีศึกษาจาก ConversionXL พบว่าการเข้าชมผ่านอีเมลมีค่า Bounce Rate ที่ต่ำที่สุด 

ในทางกลับกันโฆษณาแบบดิสเพลย์และการเข้าชมผ่านโซเชียลมีเดียมักจะมี Bounce Rate ที่สูงมาก (ถ้าเป็นโฆษณาแบบดิสเพลย์อาจเกิดจากรูปภาพหลอกให้คลิก พอเข้าไปเนื้อหากลับไม่ตรงตามที่ต้องการก็เป็นได้)

bounce-rate-differences-by-traffic-source-768x553
Image: backlinko.com

ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Bounce Rate ที่ได้รับการทดสอบ สำหรับผมแล้วหากต้องการ Bounce Rate ที่ดี คุณต้องรู้ก่อนว่าเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอคืออะไร เป็นบทความให้ความรู้, ขายสินค้า หรือเขียนอีเมล์ และวัตถุประสงค์ของเนื้อหาสร้างขึ้นเพื่ออะไร 

หลังจากนั้นให้คุณใช้หลักการเขียนแบบ Copywriting ในการออกแบบเนื้อหา รับรองได้เลยว่าคุณจะหมดปัญหาเรื่อง Bounce Rate อย่างแน่นอนครับ 

3. Pogo Sticking คำตอบสุดท้ายไม่ได้วัดกันที่อันดับ

Pogo Sticking คือการที่ผู้ค้นหาทำการค้นหาข้อมูลผ่าน Google คลิกเข้าหน้าเว็บไซต์จากอันดับไหนก็ได้และ Back กลับไปยังหน้า SERPs 

แม้ว่า Dwell Time จะสูงหรือ Bounce Rate จะต่ำก็ตาม แต่หากไม่สามารถให้คำตอบสุดท้ายแก่ผู้ค้นหาได้ ก็จะเกิด Pogo Sticking ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ อาจถูกพิจารณาลดอันดับลงได้ครับ 

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณค้นหาคำว่า “วิธีการลดความอ้วน” บน Google และคุณมีการคลิกที่ผลลัพธ์แรก (เว็บไซต์อันดับที่ 1) แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ

ดังนั้นคุณจึง Back กลับไปที่ที่หน้า SERPs เพื่อมองหาผลลัพธ์อื่น

นี่คือเหตุการณ์ของ “Pogo Sticking”

หากมีคนจำนวนมากๆ ทำ Pogo Sticking กับหน้าเว็บไซต์ของคุณ แม้ว่าจะอยู่อันดับที่ 1 ก็อาจถูกพิจารณาลดอันดับได้ โดยไม่ต้องมองปัจจัยในเรื่องของ Backlink สรุปได้ว่า Backlink ก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้หากมีปัญหาเรื่อง UX Signals

Pogo Sticking มีความสำคัญอย่างไร?

หลักการของ Pogo Sticking เป็นปัจจัยที่อธิบายพฤติกรรมของผู้ค้นหาได้อย่างชัดเจนว่าเกิดความไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้บน Google ซึ่งทางสถาปนิกของ Google เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีการสร้างฟังก์ชั่นที่ชื่อว่า “People also search for

ผมจะทำการทดสอบค้นหาคำว่า “ลดความอ้วน” ให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ โดยจะคลิกไปที่เว็บไซต์ www.cigna.co.th และทำการ Pogo Sticking คือคลิกเข้าผลลัพธ์นั้นไปและกด back กลับออกมาทันที 

ผลที่ออกมาก็คือมี “People also search for” หรือ “และผู้คนยังค้นหา” (ในวงสีแดงภาพด้านล่าง) เกิดขึ้นมาทันที นี่คือผลจากการทำ Pogo Sticking ครับ

ซึ่ง People also search for จะแสดงผลอยู่ระหว่างผลลัพธ์ที่เกิด Pogo Sticking ทางระบบของ Google จะเลือกคีย์เวิร์ดที่มีความหมายใกล้เคียงกับผลการค้นหาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด Pogo Sticking เป็นครั้งที่ 2 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยเกี่ยวกับการทำ Pogo Sticking ได้รับความสำคัญจาก Google ไม่น้อยเลย ดังนั้นไม่แปลกใจหากจะมีการใช้ปัจจัยนี้ในการจัดอันดับ

4. Organic CTR คลิกยิ่งเยอะๆๆๆ ยิ่งดี

Organic Click-Through-Rate (Organic CTR) หรือที่เราเรียกกันว่า “อัตราการคลิก” คือ เปอร์เซ็นต์ของผู้ค้นหาที่คลิกผลลัพธ์ผ่านทาง Google ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าผ่านทาง Google เท่านั้นนะครับ 

หลักการของ CTR ถูกเอาไปใช้ในทุกแวดวงการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่า CTR ยิ่งเยอะยิ่งดี

Larry Kim เคยทำสถิติและวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของอันดับที่เกี่ยวข้องกับ Organic CTR พบว่าอันดับที่ 1 บน Google มีค่าเฉลี่ยของ Organic CTR สูงที่สุด และยิ่งคุณใช้คีย์เวิร์ดแบบหางยาว (Long-tail Keywords) ยิ่งสามารถเพิ่ม Organic CTR ได้อีกมากกว่า 10%

นั่นเป็นการอธิบายได้ว่าหากคุณเลือกคีย์เวิร์ดได้ดีและมีการเขียน Page Title ได้ดี จะต้องส่งผลดีต่อการจัดอันดับบน Google อย่างแน่นอน (แต่อย่าลืมให้ความสำคัญกับปัจจัยของ Pogo Sticking ด้วยนะครับ) 

5. Search Intent เนื้อหาชัดเจนอันดับมาแน่นอน

Search Intent หรือ User Intent แปลได้ว่า “ความตั้งใจในการค้นหา” คือ เป้าหมายหลักที่ผู้ค้นหาพิมพ์คำค้นหาลงไปบน Google และสามารถพบกับผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น

สมมติว่าคุณต้องการค้นหา “วิธีลดน้ำหนักใน 7 วัน” หลังจากพิมพ์คำค้นหาลงไปแล้ว คลิกเลือกหน้าเว็บไซต์จากอันดับที่ 1 พบว่า “วิธีการลดน้ำหนักของอันดับที่ 1 ไม่ได้อธิบายการลดน้ำหนักใน 7 วัน แต่อธิบายการลดน้ำหนักใน 14 วัน” ส่งผลให้คุณต้อง Back กลับออกมาเพื่อหาข้อมูลใหม่
หลังจากที่กลับออกมาหน้า SERPs คุณให้ความสนใจและเกิดการคลิกหน้าเว็บไซต์ในอันดับที่ 4 แล้วพบว่ามีการอธิบายวิธีการลดน้ำหนักภาย 7 วัน คุณพอใจกับเนื้อหาและใช้เวลาอยู่ในหน้าเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการกด Back กลับไปอีก เหตุการณ์นี้จะส่งผลให้หน้าเว็บไซต์ในอันดับที่ 4 ถูกพิจารณาเพิ่มอันดับที่ดีขึ้น
อันที่จริงปัจจัยของ Search Intent จะมีความสัมพันธ์กับ Pogo Sticking ค่อนข้างชัดเจน เพราะหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลลัพธ์อันดับที่ 1 ตามตัวอย่างถือว่าเป็น Pogo Sticking  และอาจถูกพิจารณาลดอันดับลงมาได้ (การใช้ LSI Keyword ช่วยให้ Search Intent มีผลดียิ่งขึ้นด้วยครับ)

6. Core Web Vitals ปัจจัยเฉพาะทางเทคนิค

Core Web Vitals คือ ปัจจัยเฉพาะทาง หรือปัจจัยทางเทคนิคที่ Google มองว่าสำคัญต่อประสบการณ์ผู้ใช้งาน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 เรื่องหลักดังนี้

  1. HTTPS – สมัยนี้ผู้ให้บริการ Hosting เปิดให้ใช้งานฟรีกันแล้วไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่
  2. Mobile-Friendly – ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างเว็บไซต์ส่วนใหญ่รองรับอยู่แล้ว
  3. Pop-up – ไม่ควรทำโฆษณาปอปอัพคั่นระหว่างหน้า (เลื่อนเม้าส์แล้วมีปอปอัพโฆษณา)
  4. Malware – ปลักอินบนเวิร์ดเพรสมีให้เลือกมากมาย โหลดมาไว้เพื่อป้องกันมัลแวร์
  5. Page Speed – แน่นอนว่าหากเว็บไซต์โหลดได้รวดเร็ว ย่อมส่งผลดีกับผู้ใช้งานอย่างแน่นอน

ทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นอะไรที่หลายๆ คนรู้กันดีอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่าทุกปัจจัยมีความสำคัญทั้งหมด แต่อาจจะต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วต้องบอกว่าทำได้ยากมาก แต่ในปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือคอยช่วยเหลืออยู่เต็มไปหมด ทำให้การตั้งค่าระบบพวกนี้ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

สำหรับใครที่ลองอ่านเกี่ยวกับ UX Signals แต่ยังรู้สึกว่าซับซ้อนและไม่เข้าใจ ผมจะขอสรุปแบบรวบรัดให้ตามนี้ครับ หากเป็นเรื่อง Core Web Vitals จะเป็นปัจจัยเชิงเทคนิค แนะนำลองหาข้อมูล หัดเล่น หัดทำ เพราะมีคนทำวีดีโอสอนอยู่มากมายครับ

ส่วนปัจจัยเรื่อง Dwell Time, Bounce Rate, Pogo Sticking และ Search Intent ให้คุณไปศึกษาเรื่อง SEO Copywriting ได้เลยครับ เพราะเรื่องนี้คือแก่นของ UX Signals เป็นเทคนิคการตลาดขั้นสูงที่วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในเชิงพฤติกรรม เป็นเทคนิคแบบ Old School ที่ถูกใช้งานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ปี และปัจจุบันก็ยังใช้งานได้ผลดีอยู่

ความคิดเห็นสุดท้ายเกี่ยวกับ SEO เบื้องต้น

ทั้งหมดคือหลักการเบื้องต้นของ SEO ที่คุณต้องรู้เอาไว้ ไม่ว่าคุณจะศึกษาไปเพื่อทำธุรกิจของตัวเอง หรือศึกษาเอาไว้ทำงานในสายการตลาดออนไลน์ คุณต้องรู้จักความหมายและรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจำไว้เลยครับว่า แก่นแท้แห่ง SEO ปัจจัยหลักที่ไม่มีทาง (หรือยากมากๆๆๆ) ที่ทาง Google จะตัดออกไปจากการประมวลผลคือ 

1. Content (หมายถึงเรื่อง On-page SEO นั่นแหละ)
2. Backlink (คะแนนโหวตยังไงก็มีความสำคัญเสมอ)
3. UX Signals (ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับ Google)

สำหรับเรื่อง UX Signals จะวัดผลได้ก็ต่อเมื่อเว็บไซต์ของคุณติดหน้าแรกเท่านั้น และการที่จะขึ้นไปอยู่หน้าแรกได้นั้นจะต้องอาศัย On-page SEO และ Backlink เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนของอัลกอริทึมก็ต้องเป็นแบบนี้เสมอ เพราะฉะนั้นไม่ต้องตื่นตระหนกกับการอัพเดทใดๆ แค่คุณเข้าใจความหมายของ SEO และเข้าใจแก่นแท้ของ SEO เพียงเท่านี้ก็ไม่มีอะไรยากแล้วครับ ขอให้ทุกคนสนุกกับการทำอันดับบน Google ไว้พบกันบทความต่อไปครับ 🙂

รู้ไว้ใช่ว่า...เรียนรู้คำศัพท์ SEO

Search Engine คือ เครื่องมือการค้นหาที่จะช่วยคุณหาข้อมูลที่ต้องการบนโลกอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น Google เราใช้ค้นหาข้อมูลทั่วๆไป, YouTube ใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวีดีโอ, Facebook ใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวบุคคลที่สนใจ เป็นต้น พวกนี้ล้วนเรียกว่า Search Engine ทั้งนั้นครับ

SEO หรือ Search Engine Optimization คือ การปรับแต่งเว็บไซต์หรือเว็บเพจ ให้ถูกต้องตามหลักของอัลกอริทึม ซึ่งจะช่วยให้คนที่ค้นหาข้อมูลเห็นเว็บไซต์หรือเว็บเพจของคุณมากยิ่งขึ้น ถ้าเปรียบกับ Google ก็คือจะช่วยให้อันดับดีขึ้นนั่นเองครับ

Google Algorithm คือ ระบบประมวลผลที่ทางสถาปนิกของกูเกิ้ลออกแบบขึ้นมา เพื่อใช้วัดผลในการจัดอันดับในรูปแบบต่างๆ ปกติทางกูเกิ้ลจะมีการอัพเดทอัลกอริทึมย่อยๆ มากกว่า 1000 ครั้งในแต่ละเดือน และมักจะอัพเดทครั้งใหญ๋ในทุกๆปี ซึ่งการอัพเดทอัลกอริทึมแต่ละครั้งก็จะอยู่บนพื้นฐานของเรื่อง Content, Backlink และ UX Signals ไม่ได้หนีไปจาก 3 ปัจจัยนี้แน่นอน

Google Ads คือ การทำโฆษณาผ่าน Google จะต้องมีการจ่ายค่าโฆษณาเป็นคลิก ซึ่งหลักการจะตรงกันข้ามกับ SEO เหมาะสำหรับเรียกคนเข้าชมเว็บไซต์อย่างรวดเร็ว ความยากของการทำ Google Ads คือต้องมีทักษะการเขียนโฆษณา (Copywriting) ที่ดีด้วยครับ

Anchor Text Link คือ การเชื่อมโยงลิงค์แบบ <a href=”https://www.ชื่อเว็บไซต์.com”>คีย์เวิร์ด</a> ในสำหรับทาง SEO การใช้ Anchor Text Link มีความสำคัญมาก เพราะในเวลาที่คุณจะทำ Backlink จะช่วยบอก Google ได้ว่าคุณต้องการทำอันดับในคีย์เวิร์ดอะไร แต่รายละเอียดเกี่ยวกับ Anchor Text Link จะมีอะไรมากกว่านี้อยู่พอสมควร ไว้ผมจะทำบทความมาแนะนำให้นะครับ 

Indexing คือ ดัชนีข้อมูลที่ทาง Google เก็บเอาไว้ การทำงานก็คือเมื่อคุณสร้างเว็บไซต์ขึ้น Google Bot จะวิ่งมาเก็บข้อมูลเนื้อหาของหน้าเว็บไซต์ ตรวจสอบง่ายๆ โดยการเอาชื่อเว็บไซต์ไปค้นหาใน Google เช่น site:konvertive.com จะเห็นได้เลยว่า Google เก็บข้อมูลเว็บไซต์นั้นๆ ไปมากน้อยแค่ไหน เวลาที่คุณทำ Backlink หากลิงค์ที่คุณได้รับมาไม่ได้รับการ Index ก็แสดงว่า Google ไม่มาเก็บข้อมูล นั่นหมายถึงลิงค์นั้นก็จะไม่ถูกนำไปนับคะแนนอย่างที่ผมอธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ครับ

Old School คือ ใช้เรียกเทคนิคหรือกลยุทธ์ดั้งเดิมหรือระดับรากฐาน อย่างที่ผมบอกว่าเทคนิคการทำ On-Page SEO แบบ Old School หมายถึงว่าเป็นวิธีการทำ On-Page SEO แบบดั้งเดิมที่อาจมีอายุมากกว่า 10 ปี อาจบอกได้ว่าเทคนิคที่เป็น Old School ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเทคนิคระดับรากฐาน ที่มีความสำคัญและอาจมีผลไปได้อีกนานหลายปี อีกตัวอย่างเช่น เทคนิคการทำ Copywriting เทคนิคนี้มีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Old School เช่นเดียวกันครับ

Ruth (Internet Marketing Strategist) Ploysupa
Konvertive – Delivering Your Business Conversions with Digital Marketing

ฝากแชร์ต่อให้เพื่อนๆ ด้วยนะครับ 😊 ขอบคุณครับ 🙏