Remarketing คืออะไร? (พร้อมตัวอย่างกลุ่มเป้าหมาย)

เทคนิคการทำโฆษณาออนไลน์รูปแบบนึงในปัจจุบันที่พวกเราคุ้นเคย และมักจะถูกนำมาใช้ในการทำโฆษณากัน ก็คือเทคนิคที่เรียกว่า "การทำ Remarketing"

การทำโฆษณา Remarketing แบบง่ายๆ ที่พวกเราคุ้นเคยกันก็คือ “การยิงโฆษณาไปหากลุ่มคนที่เคยเข้าเว็บไซต์” มาก่อนหน้านี้

ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีการทำ Remarketing บนแพลตฟอร์มโฆษณาต่างๆ ในปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการไปมาก คุณสามารถที่จะทำโฆษณายิงไปหาคนกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้มากกว่าแค่ “คนที่เคยเข้าเว็บไซต์ของคุณ” เพียงอย่างเดียวแล้ว 

ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น อ่านต่อในโพสต์นี้ได้เลยครับ

Remarketing
Remarketing เทคนิคโฆษณาที่เราคุ้นเคย

แต่ก่อนอื่นผมขอถามคุณนิดนึงนะครับว่า… 

คุณเชื่อในเรื่องของ “รักแรกพบ” เจอกันปุ๊บ แล้วขอแต่งงานกันปั๊บเลยหรือเปล่าครับ?

คือถ้าคุณเชื่อเรื่องนี้ โพสต์นี้อาจจะไม่เหมาะกับคุณซักเท่าไหร่ (ฮาๆๆ)

เมื่อเจอกันปุ๊บ ขอแต่งงานปั๊บ

อ้อ! คุณไม่ต้องกังวลไปครับ เว็บนี้ไม่ใช่เว็บหาคู่หรือว่าเว็บของพี่ฉอดที่ให้คำปรึกษาด้านความรักครับ กรุณาอ่านต่อครับ 🙂

แต่ถ้าคุณเชื่อในเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์ เชื่อในเรื่องของความพยายาม (ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก?) และเชื่อในเรื่องของการทำธุรกิจในระยะยาวววว

ผมว่าโพสต์นี้จะช่วยทำให้คุณเห็นถึงประโยชน์ของการทำ Remarketing ได้ดียิ่งขึ้น

คือพวกเราต้องยอมรับความจริงข้อนึงที่ว่า…

ทุกวันนี้พวกเราต่างก็เห็นโฆษณากันทุกวัน วันละหลายๆ รอบ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของพวกเราไปแล้ว

โลกที่ประกอบไปด้วยโฆษณา 2 ตัวใหญ่ๆ

แล้วเมื่อพูดถึงโฆษณา ผมก็จะบอกกับลูกค้าอยู่เสมอครับว่า โฆษณาที่พวกเราเห็นนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ

  1. โฆษณาตัวเปิด (Prospecting Ads) – โฆษณาที่ยิงไปหาเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ โดยทำหน้าที่ยิงไปหาคนที่กำลังสนใจในสินค้า/บริการ ให้เข้ามาทำความรู้จักกับคุณกันก่อน
  2. โฆษณาตัวปิด (Remarketing Ads) – โฆษณาที่ยิงไปหากลุ่มเป้าหมายที่มีความคุ้นเคยกับธุรกิจของคุณในระดับนึงแล้ว รวมไปถึงคนที่เคยคลิกเข้ามาที่เว็บของคุณจากโฆษณาตัวเปิดด้านบน
 

ซึ่ง “โฆษณาตัวปิด” ที่ผมหมายถึงนี่แหละครับ คือโฆษณาที่เรียกว่า Remarketing

คือพวกเราต้องเข้าใจความจริง (ที่เจ็บปวด?) อย่างนึงครับว่า…

มันมีโอกาสน้อยมากนะครับ ในการที่จะไปขายของให้กับใครสักคน โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยได้ยินหรือว่ารู้จักกันมาก่อน (พวกนักการตลาดมักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Cold Traffic)

เมื่อเทียบกับการที่คุณจะไปขายของให้กับคนที่คุ้นเคยหรือได้ยินได้รู้จักชื่อของคุณมาก่อนบ้าง โอกาสที่จะขายคนกลุ่มนี้ก็จะง่ายมากกว่าครับ (เรียกคนในกลุ่มนี้ว่า Warm Traffic อ่านเพิ่มเติม Marketing Funnel คืออะไร?)

ดังนั้นการทำโฆษณาตัวปิด (Remarketing Ads) ก็คือ การทำโฆษณาที่คุณนำมาใช้ยิงไปหาคนที่อยู่ในกลุ่มของ Warm Traffic ซึ่งจะทำให้คุณมีโอกาสที่จะขายได้มากกว่า Cold Traffic นั่นเอง

Cold-Warm-Hot Traffic
ทาง Digital Marketer ทำการแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ Cold, Warm, Hot Traffic

ก็เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ตอนแรกอ่ะครับว่า… 

การที่เราจะเจอใครสักคนในครั้งแรกแล้วไปขอเค้าแต่งงาน แล้วเค้าตอบตกลงด้วย! มันอาจจะเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าเราค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์กับเค้าไปเรื่อยๆ ใช้เวลาไปด้วยกัน ผมว่าก็น่าจะตกลงกันง่ายกว่า จริงมั๊ยครับ?

OK กลับมาเรื่องของเรากันต่อดีกว่า

จริงๆ แล้ว Remarketing คืออะไร?

ก่อนที่จะลงลึกถึงเรื่องของ Remarketing นั้น ผมขอแนะนำให้คุณอ่านโพสต์ที่เกี่ยวกับเรื่องของ Customer Journey คืออะไร? กันก่อน

เพราะว่าจริงๆ แล้วผมจะบอกคุณว่า…

เรื่องของ Remarketing กับเรื่องของ Customer Journey มันแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน 

ก็คือมันเป็นเรื่องของ “กลุ่มลูกค้า” ที่คุณกำลังจะเข้าไปพูดคุยหรือไปโฆษณาหาพวกเค้านั่นเอง

ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ว่า…

มันคือเรื่องเดียวกันกับเรื่องของ “Custom Audiences” ที่มีอยู่ในการทำโฆษณา Facebook Ads, Google Ads และก็แพลตฟอร์มโฆษณาเจ้าอื่นๆ

Facebook Custom Audiences
การสร้าง Facebook Custom Audiences ในรูปแบบต่างๆ

และก็… มันคือเรื่องเดียวกันกับเรื่องของ Segmentations ที่มีอยู่ใน Google Analytics

Remarketing Google Analytics
การสร้างกลุ่ม Audience Builder ใน Google Analytics (Remarketing = Segmentation)
พูดง่ายๆ ก็คือ…

การทำ Remarketing ก็คือเรื่องของการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า… "คุณกำลังจะไปทำการตลาดหรือยิงโฆษณาหาคนที่อยู่ในกลุ่มไหนอยู่?"

Remarketing คือเรื่องเดียวกันกับการแบ่งกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งการแบ่งกลุ่มที่ว่านี้ ก็สามารถแบ่งกลุ่มได้หลายแบบ หลายวิธี และผมก็คิดว่ามีอยู่อย่างน้อย 2 กลุ่ม ที่ทุกธุรกิจจะต้องมีอย่างแน่ๆ ก็คือ 

  1. กลุ่มที่เป็นลูกค้า (Customers) – คนที่จ่ายเงินกลายมาเป็นลูกค้าให้กับคุณนั่นแหละครับ
  2. กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า (Non-Customers) – คนที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าของคุณในตอนนี้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่
 

เบื้องต้นผมแนะนำให้คุณทำการแบ่งกลุ่มคนออกให้ได้ 2 กลุ่มตามนี้ก่อน คืออย่างน้อย คุณต้องทำการแยกคนที่เป็นลูกค้าออกมาให้ได้ก่อน

เคยมั๊ยครับที่ว่า คุณเห็นโฆษณาตัวนึง แล้วก็คลิกเข้าไปซื้อ แล้วอีกไม่กี่นาทีเจ้าโฆษณาตัวเดิมก็ยังโผล่มาให้คุณเห็นอยู่เรื่อยๆ อีก แบบนี้เสียดายเงินแทนคนลงโฆษณาเลยครับ

ทีนี้ในส่วนของคนที่ยังไม่ได้มาเป็นลูกค้าของคุณ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้แหละครับ ที่คุณจะต้องทำการบ้านต่อ และทำการแบ่งกลุ่มคนออกมาให้ละเอียด เพื่อที่คุณจะได้ทำความเข้าใจพวกเค้าแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุด

พูดง่ายๆ ก็คือคนกลุ่มนี้คือคนที่ยังอยู่ในช่วงเวลาตัดสินใจว่าจะกำเงินมาซื้อของจากคุณดี หรือว่าจะไปซื้อจากคู่แข่งเจ้าอื่นๆ แทน

แล้วก็คนกลุ่มนี้แหละครับ ที่คุณสามารถทำการแบ่งย่อยออกไปได้อีก ซึ่งไอเดียในการแบ่งกลุ่มสำหรับ Remarketing หลักๆ ก็จะมีเช่น

ตัวอย่างของการแบ่งกลุ่ม Remarketing

แบ่งจากพฤติกรรมของคนที่เข้าเว็บไซต์ของคุณ เช่น

  • ทุกคนที่เคยเข้าเว็บไซต์ (All Visitors)
  • คนที่เข้าไปดูยังหน้าหมวดหมู่ของสินค้า (Category Page)
  • คนที่มีแนวโน้มที่จะซื้อ เช่น คนที่กดปุ่มสั่งซื้อ คนที่คลิกไปที่หน้าสมัครสมาชิกเพื่อรับส่วนลด คนที่คลิกไปหน้ารายละเอียดสินค้า ฯลฯ
 

แบ่งจาก Traffic Source หรือช่องทางการตลาดที่คุณนำพวกเค้าเข้ามา เช่น

  • คนที่เข้ามาผ่านทางการค้นหาที่ Google
  • คนที่คลิกจากโฆษณาบน Facebook
  • คนที่คลิกจากลิงค์เว็บไซต์ Affiliates ของคุณ ฯลฯ
 

แบ่งจากข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย เช่น

  • แบ่งตามพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย กทม. หรือ ต่างจังหวัด
  • แบ่งตามอายุ เพศ
  • แบ่งตามอุปกรณ์ เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือว่าคอมพิวเตอร์
  • แบ่งตามความสนใจ หรือ Interests ที่พวกเราคุ้นเคยตอนสร้างแคมเปญโฆษณาบน Facebook นั่นแหละครับ ฯลฯ
ตัวอย่าง Remarketing List
เมื่อมีการแบ่งกลุ่ม การใช้ข้อความที่จะสื่อก็ต้องแตกต่างกันไป

จะเห็นได้ว่า การสร้างกลุ่มของ Remarketing นั้น อยู่ที่คุณจะจินตนาการได้เลยครับ ว่าอยากจะสร้างกลุ่ม Remarketing ไหนขึ้นมา เพราะปัจจุบันพวกแพลตฟอร์มโฆษณาต่างๆ ก็มีวิธีที่จะเก็บ Data ต่างๆ เหล่านี้ให้คุณได้นำไปใช้งานกันอยู่แล้ว 

รวมไปถึง การนำ Google Tag Manager มาใช้งาน สำหรับเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ ของคนที่เข้าเว็บไซต์ แล้วส่งกลับไปวิเคราะห์กันต่อที่ Google Analytics เป็นต้น

ทีนี้เมื่อพูดถึง Facebook ตอนที่คุณกำลังจะทำ Remarketing ก็ให้นึกถึงตอนที่คุณกำลังสร้าง Custom Audiences อยู่ก็ได้ครับ เช่น

  • คนที่มีส่วนร่วมกับโพสของคุณ
  • คนที่เคยส่งข้อความ Inbox ทักมาหาคุณ
  • คนที่เคยดูคลิปวีดีโอของคุณ
  • คนที่เคยกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่าน Lead Ads
 

จะเห็นได้ว่าการแบ่งกลุ่ม Remarketing ของ Facebook ในแบบด้านบนจะไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เกิดจากการที่มีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณเลย

เพราะว่า Facebook เค้าก็ทำการเก็บข้อมูลการใช้งานของพวกเราที่อยู่บน Facebook ไว้ด้วย แล้วก็ให้นักการตลาดแบบพวกเราได้นำไปใช้ประโยชน์กันครับ

ระหว่างคุณภาพกับปริมาณ คุณจะเลือกอะไร?

ทีนี้เวลาทำ Remarketing ผมก็มักจะบอกกับลูกค้าอยู่เรื่อยๆ ครับว่า ลูกค้าต้องการจะทำ Remarketing ในรูปแบบไหน ระหว่าง…

  1. เน้นคุณภาพ หรือ
  2. เน้นปริมาณ
 

อย่าลืมนะครับว่า…

คนที่คลิกเข้ามาที่เว็บของคุณทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าพวกเค้าจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณหมดทุกคน!

หรือคนที่กดปุ่ม Like ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเค้าอยากจะซื้อของจากคุณในตอนนี้

คุณจะต้องพยายามจับสัญญาณความตั้งใจหรือว่า Intent ของพวกเค้าให้ได้ และก็พยายามวิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่า “พวกเค้าต้องการอะไร?

คือถ้าคุณเน้น “คุณภาพ” ผมก็จะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายอาจจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะกลายมาเป็นลูกค้าได้สูงกว่า คือมีโอกาสที่จะขายพวกเค้าได้สูงกว่านั่นเอง

มาดูตัวอย่างของการแบ่งกลุ่มคน Remarketing โดยดูจาก “ความตั้งใจ” ในการที่จะซื้อของจากคุณกัน เช่น

  • คนที่เข้าเว็บของคุณหลายๆ ครั้ง
  • คนที่เข้ามาเปิดดูคลิปแนะนำสินค้าของคุณแล้วดูจนจบ
  • คนที่กดสมัครสมาชิกเพื่อขอรับส่วนลด
  • คนที่กดปุ่มสั่งซื้อแล้ว แต่ยังทำรายการไม่สำเร็จ ฯลฯ
 

คนกลุ่มนี้คือคนที่มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณ ได้มากกว่าแค่คนที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์แล้วกดออกไปทันที หรือคนที่เข้ามาที่เว็บแล้วไม่เจอในสิ่งที่เค้าต้องการ แล้วก็กดออกไป

หากว่าคุณเน้น “ปริมาณ” เช่น

  • คนที่เคยเข้าเว็บของคุณทุกคน ไม่ว่าจะเข้าไปเปิดดูหน้าไหนก็ตาม
  • คนที่คลิกดูคลิปวีดีโอไม่ถึง 5 วินาทีแล้วก็ปิดไป ฯลฯ
 

คนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะจริง แต่ความตั้งใจที่จะซื้อก็อาจจะไม่ได้เยอะมากพอที่จะซื้อของจากคุณ

ทีนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วว่าจะเลือกทำ Remarketing เพื่อยิงโฆษณาไปหาคนในกลุ่มไหน?

หลักการ RFM (Recency, Frequency, Monetary)

ช่วงเวลาในการทำ Remarketing คือตัวแปรสำคัญเหมือนกัน

เหมือนกับคำโบราณที่สอนเราไว้ว่า “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

ก็เลยทำให้ผมนึกถึง “หลักการ RFM” ที่นักการตลาดแบบ Direct Response ใช้กันในยุคเก่าๆ ยุคที่ยังขายสินค้าผ่านทางจดหมายกันอยู่

หลักการ RFM ที่ว่าก็คือ Recency, Frequency, Monetary

Recency – ซื้อไปนานแล้วหรือยัง?

เป็นการแบ่งกลุ่มของลูกค้าโดยดูจากระยะเวลาที่พวกเค้ามาซื้อของไปจากคุณ

ในบริบทของการทำ Remarketing ก็คือการแบ่งคนด้วยการดูว่า พวกเค้าเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณล่าสุดเมื่อไหร่?

คือคนที่เพิ่งเข้าเว็บของคุณวันนี้ ย่อมมีโอกาสที่คุณจะไปขายพวกเค้าได้มากกว่าคนที่เคยเข้าเว็บคุณเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

“ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” ใช่มั๊ยครับ?

Frequency – ซื้อบ่อยมั๊ย?
ลูกค้าขาประจำที่มาซื้อของจากคุณบ่อยๆ ก็ย่อมจะมีคุณค่ามากกว่าลูกค้าขาจรที่นานๆ แวะมา ให้คุณรักษาลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ให้ดี

เมื่อมองในบริบทของการทำ Remarketing ก็คือ พวกเค้าเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณบ่อยแค่ไหน? คนที่เข้าเว็บคุณบ่อยๆ ก็ย่อมมีโอกาสที่คุณจะเชิญชวนพวกเค้าให้กลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้มากกว่า

Monetary – ซื้อเยอะหรือเปล่า?
ลูกค้ารายใหญ่กระเป๋าหนัก ก็ย่อมต้องได้รับการดูแลที่ดีกว่าเป็นพิเศษ

ในมุมของการทำ Remarketing ก็คือ ถ้าคุณขายของหลายอย่าง คนที่เข้ามาดูสินค้าราคาแพง คุณก็อาจจะให้ความสำคัญกับพวกเค้า มากกว่าคนที่เข้ามาดูของที่ราคาถูกกว่า

มาเริ่มใช้งาน Remarketing กัน

ในปัจจุบันพวกแพลตฟอร์มโฆษณาต่างๆ มักจะให้เราทำการติดตั้งพวก Tracking Codes ต่างๆ ไว้ที่เว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น Google Ads, Facebook Pixel ฯลฯ 

ซึ่งวิธีการในการติดตั้ง Codes ต่างๆ ก็ไม่ยาก ผมแนะนำให้ติดผ่านทาง Google Tag Manager ซึ่งเป็นวิธีที่แป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี่ที่สุด (Best Practices) ในปัจจุบัน (แล้วชีวิตคุณจะง่ายขึ้นมากครับเชื่อผม!)

เมื่อเว็บไซต์ติดตั้ง Tracking Codes ต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ ตัว Tracking Codes ก็จะสร้าง Cookies พร้อมกับค่าต่างๆ เกี่ยวกับคนนั้นขึ้นมา แล้วก็ทำการส่ง Data กลับไปยังแพลตฟอร์มโฆษณาเหล่านั้น เพื่อที่จะได้รู้ต่อไปว่า คนที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณนั้นเป็นใคร

เมื่อคุณสร้างแคมเปญโฆษณา Remarketing ขึ้นมา ระบบก็จะทำการนำส่งโฆษณาตามไปหาคนที่อยู่ในกลุ่ม Remarketing ที่คุณสร้างขึ้นมาได้ต่อไป

โฆษณา Remarketing ที่ไหนได้บ้าง?

คุณสามารถที่จะยิงโฆษณาแบบ Remarketing ไปหากลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการ เช่น

  • โฆษณาบน Google Display Network ผ่านทาง Banners เว็บไซต์ต่างๆ กว่าล้านๆ เว็บทั่วโลก
  • โฆษณาบน YouTube หากว่าโฆษณาของคุณเป็นแบบวีดีโอ (คล้ายๆ กับโฆษณาบนทีวีสมัยก่อน)
  • โฆษณาบน Facebook ที่ไปโผล่ตามหน้าฟีดของพวกเค้า
  • โฆษณาบน LINE Ads Platform (LAP) โดยเฉพาะคนในบ้านเรา
  • และแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, LinkedIn ฯลฯ
Remarketing ผ่าน Google Ads
ตัวอย่างการทำงาน Dynamic Remarketing ของโฆษณา Google Ads

คำเตือนเกี่ยวกับการทำโฆษณา Remarketing

หากว่าคุณเคยได้ยินกูรูบางคนบอกมาว่า ให้ใส่ระยะเวลาของการเก็บ Remarketing List ให้นานที่สุด เช่น 90, 180 หรือ 360 วัน คือใส่ไปเยอะๆ ยิ่งดี เพราะว่าจะได้มีจำนวนคนเห็นโฆษณาของคุณเยอะๆ 

ผมอยากจะเตือนคุณว่า “เฮ๊ย… มันไม่ใช่!!!”

เพราะว่าจริงๆ แล้ว “ยิ่งมีคนเห็นโฆษณาเยอะ ยิ่งเปลืองเงิน (นะโว๊ย!)”

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

อย่าไปโลภมากที่จะไปทำ Remarketing ให้กับคนทุกคน เพราะว่ามันไม่ได้ผล!

เพราะว่า…

คนที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าพวกเค้าจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณไปหมดทุกคน!

ผมอยากให้คุณพยายามแบ่งกลุ่มคนโดยดูจากความตั้งใจและความต้องการของพวกเค้า มากกว่าจะคิดถึงแต่จำนวนคนเยอะๆ ที่คุณต้องการจะไป Remarketing พวกเค้า

ให้คุณลองคิดถึงประโยชน์ของการทำ Remarketing แบบนี้ก็ได้ครับ

ให้คุณคิดว่าคุณมีโอกาสที่จะ “แก้ตัว” ในการนำเสนอขายให้กับพวกเค้า 

คุณอาจจะทดสอบด้วยการลองเปลี่ยนรูปแบบของโฆษณาดู อาจจะลองเปลี่ยนข้อเสนอใหม่ๆ ดู แล้วก็ใช้โฆษณาตัวปิด (Remarketing Ads) เข้าไปเสนอต้วเลือกใหม่ๆ ให้กับพวกเค้าเห็น

นี่แหละที่ผมมองว่าคือประโยชน์หลักๆ ของการนำเทคนิค Remarketing มาใช้

ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณแล้วว่า จะนำเทคนิคการทำ Remarketing มาประยุกต์ใช้ยังไงถึงจะทำให้พวกเค้ากลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้ในที่สุด

สุดท้ายผมขอฝากคำคมของคุณ @Perfunn ไว้ด้วยนะครับ

เรื่องของการทำ Remarketing ก็เช่นกัน (ฮาๆๆ)

ขอบคุณมากครับ 🙂

อรรถทวี (กลับมาเจอกันอีกด้วย Remarketing) เจริญวัฒนวิญญู
Konvertive – Delivering Your Business Conversions with Digital Marketing

ฝากแชร์ต่อให้เพื่อนๆ ด้วยนะครับ 😊 ขอบคุณครับ 🙏